หลักสูตรแกนกลาง

1.  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
         
                หลักสูตรภาษาไทยมีความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นอย่างมาก เพราะในหลักสูตรจะบอกทิศทาง หลักการ เนื้อหา แนวทางการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดผลประเมินผลไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยกำหนดคุณภาพของผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ดังนี้ (กรมวิชาการ, 2551: 37)
                               
              1.1  หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย          
                ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องฝึกฝนการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารไม่ว่าจะเป็น ด้านการอ่าน การเขียน การฟัง การดู และการพูด และหลักการใช้ภาษาไทย รวมทั้งทำความเข้าใจทางด้านวรรณคดี วรรณกรรม และสามารถวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมได้ โดยสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมในอดีตได้

     1.2  คุณภาพผู้เรียน
      ผู้เรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จะต้องสามารถอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะได้ถูกต้อง อธิบายความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัยของคำ ประโยค ข้อความ สำนวนโวหาร จากเรื่องที่อ่านเข้าใจคำแนะนำ คำอธิบายในคู่มือต่างๆ แยกแยะข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริง รวมทั้งจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านและนำความรู้ความคิดจากเรื่องที่อ่านไปตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตได้มีมารยาทและมีนิสัยรักการอ่าน และเห็นคุณค่าสิ่งที่อ่าน   ตลอดจนเขียนสื่อสารโดยใช้ถ้อยคำชัดเจนเหมาะสม ใช้แผนภาพ โครงเรื่องและแผนภาพความคิด เพื่อพัฒนางานเขียน เขียนเรียงความ ย่อความ จดหมายส่วนตัว กรอกแบบรายการต่างๆ เขียนแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น เขียนเรื่องตามจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ และมีมารยาทในการเขียน พูดแสดงความรู้ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังและดู เล่าเรื่องย่อหรือสรุปจากเรื่องที่ฟังและดูตั้งคำถาม ตอบคำถามจากเรื่องที่ฟังและดู รวมทั้งประเมินความน่าเชื่อถือจากการฟังและดูโฆษณาอย่างมีเหตุผล พูดตามลำดับขั้นตอนเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน พูดรายงานหรือประเด็นค้นคว้าจากการฟัง การดู การสนทนา และพูดโน้มน้าวได้อย่างมีเหตุผล รวมทั้งมีมารยาทในการดูและพูด สะกดคำและเข้าใจความหมายของคำ สำนวน คำพังเพยและสุภาษิต รู้และเข้าใจชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค ชนิดของประโยค และคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทย ใช้คำราชาศัพท์และคำสุภาพได้อย่างเหมาะสม แต่งประโยค แต่งบทร้อยกรองประเภทกลอนสี่ กลอนสุภาพ และกาพย์ยานี 11 เข้าใจและเห็นคุณค่าวรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน เล่านิทานพื้นบ้าน ร้องเพลงพื้นบ้านของท้องถิ่น นำข้อคิดเห็นจากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง และท่องจำบทอาขยานตามที่กำหนดได้
1.3         สาระและมาตรฐานการเรียนรู้
       หลักสูตรแกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย พุทธศักราช 2551 กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สาระที่ 1 การอ่าน ดังนี้ (กรมวิชาการ, 2551:44-54)
                สาระที่ 1 : การอ่าน
                มาตรฐาน ท 1.1: ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดไปใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต และมีนิสัยรักการอ่าน
                สาระที่ 2 : การเขียน
                มาตรฐาน ท 2.1 : ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียนความย่อความ และเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศ และเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
                สาระที่ 3 : การฟัง การดู และการพูด
                มาตรฐาน ท 3.1 : สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีจิจารญาณ และพูดแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกในโอกาสต่างๆ อย่างมีวิจารญาณ และสร้างสรรค์
                สาระที่ 4 : หลักการใช้ภาษา
                มาตรฐาน ท 4.1 : เข้าใจธรรมชาติและเกณฑ์ของหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
                มาตรฐาน ท 4.2 : สามารถใช้ภาษาแสวงหาความรู้ เสริมสร้างลักษณะนิสัยบุคลิกภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม อาชีพ สังคมและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
                สาระที่ 5 : วรรณคดี และวรรณกรรม
                มาตรฐาน ท 5.1 : เข้าใจแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่าและซาบซึ้งและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง



1.4         ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
       เมื่อนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ควรมีความรู้ตามตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางสาระที่ 1 การอ่าน ตามมาตรฐานของหลักสูตรแกนกลางกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย พุทธศักราช 2551 ดังนี้ (กรมวิชาการ, 2551:44-48)
1)       สามารถอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะกับพร้อมบอกความหมายได้ถูกต้อง
2)             อธิบายความหมายของคำ ประโยค และสำนวนจากเรื่องที่อ่านได้
3)                อ่านเรื่องสั้น ๆ ตามเวลาที่กำหนดและสามารถตอบคำถาม จับใจความแยกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น คาดคะเนเหตุการณ์โดยระบุเหตุผลประกอบ พร้อมกับสามารถสรุปความรู้และข้อคิดจากเรื่องที่อ่านได้
4)                เลือกอ่านหนังสือตามความสนใจและเหมาะสมกับวัยและสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านพร้อมกับมีมารยาทในการอ่าน

2.  หลักสูตรสถานศึกษา
               
                หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแก้วบุตร คูสกุล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการบริหารการศึกษาเอกชน เป็นหลักสูตรที่โรงเรียนแก้วบุตร คูสกุล ได้พัฒนาขึ้นตามโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยกำหนดไว้ว่า
                เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ เป็นการสร้างกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของบุคคล ผู้เรียนมีศักยภาพในการแข่งขัน ปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นไปตามเจตนารมณ์มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 ฉะนั้นจึงประกาศปีการศึกษา 2553 ให้โรงเรียนทั่วไปใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ปีการศึกษา 2554 ให้มีการใช้เพิ่มในชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2 และ 5 และตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไปให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)